วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

กฏหมายที่ดิน

ประเภทที่ดิน
ที่ดินเป็นทรัพย์อันมีค่าที่ทุกคนหวงแหน เป็นพื้นฐานของครอบครัวและประเทศชาติเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญยิ่งต่อการดำรงชีวิตมนุษย์ สำหรับใช้เพื่ออยู่อาศัยและเพื่อประโยชน์อื่นๆ ดังนั้นระเบียบการเกี่ยวกับที่ดินจึงมีความละเอียดอ่อนมาก เพื่อให้ประชาชนผู้สุจริตได้มีโอกาสทำความเข้าใจกับเรื่องที่ดินที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันบางส่วนไว้บ้าง จึงได้รวบรวมข้อควรทราบและทางปฏิบัติเกี่ยวกับที่ดินซึ่งจะได้กล่าวต่อไปตามลำดับ

ที่ดิน หมายความว่า พื้นที่ดินทั่วไปและให้หมายความรวมถึงภูเขา ห้วย หนองคลองบึง ทะเลสาบ เกาะ และที่ชายทะเลด้วย (ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 1)

คำว่าที่ดินมิได้หมายถึงเนื้อดินอันเป็นกรวดทราย โคลน เลน แต่หมายถึงอาณาเขตอันจะพึงวัดได้เป็นส่วนกว้างส่วนยาวอันประจำอยู่แน่นอนบนพื้นผิวโลก เป็นส่วนหนึ่งของผิวพื้นโลกอันมนุษย์จะพึงอาศัย กรวด ทราย หิน ดิน โคลน แร่ธาตุที่อาจจะขุดขึ้นมามิใช่ตัวที่ดิน หากเป็นทรัพย์ที่ประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดิน ที่ดินนั้นจึงเป็นสิ่งไม่อาจทำลายทำให้สูญหาย หรือเคลื่อนย้ายอย่างใดๆ ได้ เว้นแต่จะเปลี่ยนสภาพไปเช่นเปลี่ยนสภาพเป็นทางน้ำสาธารณะ

1. ที่ดินของเอกชน รวมที่ดินที่ยังไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ แต่อาจมีหลักฐานแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3,น.ส.3 ก.) ผู้ครอบครองที่ดินดังกล่าวมีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้นและรวมถึงที่ดินมีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ เช่น โฉนดที่ดิน โฉนดแผนที่ โฉนดตราจองและตราจองที่ตราว่าได้ทำประโยชน์แล้ว

2. ที่ดินของรัฐ ได้แก่ที่ดินที่รัฐหรือหน่วยงานของรัฐ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิรวมทั้งที่ดินรกร้างว่างเปล่า ซึ่งมิได้มีผู้ใดครอบครองเป็นเจ้าของ และสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

สาธารณสมบัติของแผ่นดิน คือ ทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่นที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินที่มีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้งกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่นตามกฎหมายที่ดิน ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เช่น ทางหลวง ทางน้ำ ทะเลสาบ ทรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน โดยเฉพาะเช่น ศาลากลางจังหวัด
โรงทหาร

สาธารณสมบัติของแผ่นดินมีคุณสมบัติดังนี้

1. จะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่มีกฎหมายที่ออกเฉพาะให้โอนกันได้

2. ห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดิน เช่น ครอบครองทุ่งเลี้ยงสัตว์สาธารณะกี่ปีก็ไม่ได้กรรมสิทธิ

3. ห้ามยึดทรัพย์ของแผ่นดิน

หนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิในที่ดินมีอยู่ 4 อย่าง

1. โฉนดแผนที่ เป็นหนังสือแสดงกรรมสิทธิในที่ดิน ฉบับแรกที่เกิดขึ้นในประเทศไทยออกเมื่อ ร.ศ.120 (พ.ศ. 2445) และ ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2452) ออกโดยมีการรังวัดทำแผนที่ระวาง ป้องกันการเกิดการทับที่ซ้อนที่ ผู้ถือหนังสือนี้มีกรรมสิทธิในที่ดินของตนโดยสมบูรณ์ตลอดไปจนกระทั่งปัจจุบัน

2. โฉนดตราจรอง เป็นหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิในที่ดินออกตาม พระราชบัญญัติออกโฉนดตราจอง ร.ศ.124 ประกาศใช้ในมณฑลพิษณุโลก ที่เป็นจังหวัดพิษณุโลก พิจิตร อุตรดิตถ์ สุโขทัย และบางส่วนของนครสวรรค์ ในจังหวัดอื่นไม่มีการออกโฉนดตราจองการรังวัดทำแผนที่ไม่มีระวางยึดโยง ทำเป็นแผนที่รูปลอย เป็นแปลงๆ ไป

3. ตราจองที่ตราว่าได้ทำประโยชน์แล้ว ออกให้ในกรณีที่บุคคลได้รับอนุญาตให้จับจองเป็นใบเหยียบย่ำมีอายุ 2 ปี หรือผู้ได้รับตราจองที่เป็นใบอนุญาต มีอายุ 3 ปี และได้ทำประโยชน์ในที่ดินภายในกำหนดแล้วมีสิทธิจะได้รับตราจองที่ตราว่าได้ทำประโยชน์แล้ว

4. โฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน มี 6 แบบ น.ส.4 , น.ส. 4 ก. ,น.ส. 4 ข., น.ส. 4 ค.,น.ส. 4 ง. (ออกโดยกฎกระทรวงฉบับที่ 15,17 ปัจจุบันไม่ออกแล้ว) น.ส. 4 จ. (ออกโดยกฎกระทรวงฉบับที่ 34) ปัจจุบันโฉนดที่ดินออกตามแบบ น.ส.4 จ.

การออกโฉนดที่ดิน

ก. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศเขตเพื่อจะออกโฉนดที่ดินทั้งตำบล (ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58,58 ทวิ)

ข. การออกโฉนดที่ดิน เฉพาะราย (ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น